Rule
กฎและข้อบังคับ
ของ
สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย
หมวดที่ 1
ความทั่วไป
หมวดที่ 8
บทเฉพาะกาล
หมวดที่ 7
บทเบ็ดเตล็ด
หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลง
แก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน
หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่
หมวดที่ 3
การดำเนินการสมาคม
หมวดที่ 2
สมาชิก

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย”ใช้อักษรย่อว่า “ผวพ” เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand Printed Circuit Association” อ่านเป็นภาษาอังกฤษว่า “ไทยแลนด์ พริ้นเต็ด เซอร์กิต แอดโซซิเอชั่น” และ ใช้อักษรย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “THPCA”
ข้อ 2. ตราของสมาคมเป็นอักษรย่อภาษาอังกฤษ THPCA สีน้ำเงินอยู่พื้นสีขาว ตัวอักษรภาษาอังกฤษ มีเส้นคล้าย วงจร พิมพ์สีทองอยู่ด้านล่างตัวอักษร THPCA และมีชื่อ THAILAND PRINTED CIRCUIT ASSOCIATION อยู่ด้านล่าง
หากมีการย่อหรือขยายตราของสมาคม ให้ย่อหรือขยายตามสัดส่วน
ข้อ 3. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 27/14 ซอยศรีบำเพ็ญ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร 10120
ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคมเพื่อ
4.1 จัดให้มีการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมศาสตร์แผ่นวงจรพิมพ์ เทคโนโลยีใน เรื่อง อุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย
4.2 ส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าและการพัฒนาด้านวิศวกรรมศาสตร์แผ่นวงจร พิมพ์ เทคโนโลยีในเรื่อง อุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย
4.3 ให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่องอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์
4.4 ส่งเสริมทักษะการทำงานให้กับสมาชิกในด้านแผ่นวงจรพิมพ์
4.5 ส่งเสริมสนับสนุนร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
4.6 ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด
ข้อ 5. สมาชิกสามัญของสมาคมมี 3 ประเภท คือ
5.1 สมาชิกบุคคลธรรมดา ได้แก่บุคคลที่สนใจด้านแผ่นวงจรพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์ มีความจำนงขอสมัครเป็น สมาชิก และคณะกรรมการบริหารมีมติ อนุมัติรับเข้าเป็นสมาชิกบุคคลได้
5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลที่ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมซึ่งคณะกรรมการลง มติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์
5.3 สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่บริษัท สโมสร สมาคม มูลนิธิหรือหน่วยงานที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่เห็นพ้องกับ
วัตถุประสงค์และกิจกรรมและกิจกรรมของสมาคม ยินดีให้การสนับสนุนสมาคม และคณะกรรมการบริหาร
มีมติอนุมัติให้รับเข้าเป็นสมาชิกนิติบุคคลได้
ข้อ 6. สมาชิกต้องประกอบไปด้วยมคุณสมบัติดังต่อไปนี้
6.1 สมาชิกบุคคลธรรมดาและสมาชิกกิตติมศักดิ์
6.1.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
6.1.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.1.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.1.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสมารถหรือเสมือนไร้ความ สามารถหรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษการต้องคำพิพากษาของศาล ถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของ สมาคมเท่านั้น
6.2 สมาชิกนิติบุคคล
6.2.1 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
6.2.2 มีฐานะมั่นคงพอสมควร
6.2.3 มีเอกสารยืนยันการจดทะเบียนบริษัทที่ออกโดยภาครัฐ
6.2.4 มีพนักงานปฏิบัติงานในวิสาหกิจของตนเอง ไม่น้อยกว่า 20 คน
ข้อ 7. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม
7.1 สมาชิกบุคคลธรรมดา จะต้องเสียค่าลงทะเบียนเป็นครั้งแรก 1,500 บาทหรือค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 1,500 บาท
7.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใดทั้งสิ้น
7.3 สมาชิกนิติบุคคล จะต้องเสียค่าลงทะเบียน 7,500 บาทหรือค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 7,500 บาท
ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของ สมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคม จะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุม คณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและเมื่อคณะกรรมการพิจารณา การสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง สมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วัน ที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลง ทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ 10. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการ
ได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
11.1 ตาย
11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
11.3 ขาดคุณสมบัติสมาชิก
11.4 ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียนเพราะสมาชิกผู้ นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ 12. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
12.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม
และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
12.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุม ใหญ่วิสามัญได้
12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม
12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมมีจำนวนอย่างน้อย 5 คน อย่างมากไม่เกิน
15 คน คณะกรรมการนี้ต้องเป็นสมาชิกสามัญที่ได้มาจากการเลือกของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้ รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ เลือกกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 1 คน สำหรับกรรมการใน
ตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของ สมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
13.1 นายกสมาคมทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับ บุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการและการประชุมใหญ่ของสมาคม
13.2 อุปนายกทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่ ที่นายกสมาคมได้ มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
13.3 เลขานุการทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติ กิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการประชุม ต่างๆ ของสมาคม
13.4 เหรัญญิกมีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของ สมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
13.5 ปฏิคมมีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและ จัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆของสมาคม
13.6 นายทะเบียนมีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บ เงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
13.7 ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไป ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
13.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อ รวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะ กรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 14 คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการจด ทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้วแต่คณะกรรมการชุด ใหม่ยังไม่ได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการและเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการจด ทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและ คณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้น ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับการจดทะเบียน จากทางราชการ
ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใด คนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้ เท่ากับ วาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น และถ้าเป็นตำแหน่งนายกสมาคมว่างก็ให้คณะกรรมการเลือกกันเองเป็น นายกสมาคม
ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
16.1 ตาย
16.2 ลาออก
16.3 ขาดจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับและตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้
16.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
16.5 เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสียและคณะกรรมการสมาคมมีมติให้ออก
โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของคณะกรรมการของสมาคม
ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษร
ต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ 18 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่
ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการจะสามารถ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ
ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญ จำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อ ร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน
นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรม
ต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิก ได้รับทราบ
18.11 มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยให้จัดขึ้นภายในวันที่ 20 ของทุกๆ เดือน ทั้งนี้เพื่อ ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการ ทั้งหมดจึงจะถือว่า ครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้าง มากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 21 ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ได้ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในการ ประชุมคราวนั้น
ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด คือ
22.1 การประชุมใหญ่สามัญ
22.2 การประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้การประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกันยายนของทุกๆ ปี
ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อ ร่วมกันของสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดทำหนังสือ ร้องขอต่อคณะกรรมการของ สมาคมให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่า ประสงค์ให้เรียกประชุมเพื่อการใด
เมื่อคณะกรรมการของสมาคมได้รับหนังสือร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการ ของสมาคมเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ
ถ้าคณะกรรมการของสมาคมไม่เรียกประชุมภายในระยะเวลาตามวรรคสอง สมาชิกที่เป็นผู้ร้องขอ ให้เรียกประชุม หรือสมาชิกอื่นรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนสมาชิกที่กำหนดตามวรรคแรกจะเรียกประชุมเองก็ได้
ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ
และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้
สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคม
เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดประชุมใหญ่หรือลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์
ที่แพร่หลายในท้องที่ฉบับหนึ่งก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก็ได้
ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อครบกำหนดวาระ
26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
26.5 ตรวจสอบทะเบียนสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน
26.6 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ 27 การประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือการประชุมใหญ่วิสามัญ ต้องมีสมาชิกสามัญมาประชุม ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม หากถึงกำหนดเวลาการประชุมแล้วสมาชิกยังไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่ครั้งนั้น เป็นการประชุมใหญ่ตามคำเรียกร้องของสมาชิกก็ให้งดการประชุม แต่ถ้าเป็นกรณีการประชุมใหญ่ที่คณะ กรรมการสมาคมเป็นผู้เรียกประชุม ก็ให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับ ตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกการประชุมครั้งหลังนี้ไม่บังคับว่าจะต้องครบองค์ประชุม
ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก
เป็นเกณฑ์แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติ หน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธาน
ในการประชุมคราวนั้น
ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามี
ให้นำฝากไว้ในธนาคารที่รัฐบาลให้การค้ำประกันในนามของสมาคมตามที่คณะกรรมการจะเห็นสมควร
ข้อ 31 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทน
ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ จึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 32 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)ถ้าเกิน กว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท(สองแสนบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 33 ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการ แทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ 35 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 36 ผู้สอบบัญชี มีอำนาจที่จะเรียกเอกสารเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถ
จะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 37 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 38 ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่ จะต้องมี สมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ ในการให้ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วม ประชุมทั้งหมด
ข้อ 39 การเลิกสมาคมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติ ของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุม
ทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 40 เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่ เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของสถาบันการศึกษาตามมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม (ผู้รับต้องมีฐานะเป็น นิติบุคคล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์)
ข้อ 41 การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ 42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับ
ของสมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ 43 สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการ
ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง
ข้อ 44 ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
เป็นต้นไป
ข้อ 45 เมื่อสมาคมได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมด เป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป